สักการะ ๒ วีรสตรีของชาติ สัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดภูเก็ต เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต สตรีสองพี่น้องชาวถลางที่ใช้สติปัญญานำพาบ้านเมืองให้รอดปลอดภัยจากศึกสงคราม ๙ ทัพ จนได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านผู้หญิง จัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี คุณมุก (น้องสาว) เป็น ท้าวศรีสุนทร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธาน ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นสัญลักษณ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ตที่ผู้คนนิยมมาสักการะและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในปีพ.ศ.๒๕๐๕ นายอ้วน สุระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เดินทางไปสหราชอาณาจักรและได้รับสำเนาจดหมายเหตุเมืองถลาง จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำกลับมายังจังหวัดภูเก็ต และได้มอบหมายให้นายประสิทธิ ชิณการณ์ ปริวรรต จนทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น อนุสาวรีย์ ฯ สร้างเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ชาวจังหวัดภูเก็ต เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของวีรสตรีไทยทั้งสองท่านที่นำทัพต่อสู้กับพม่า จนได้รับชัยชนะ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘ ประติมากรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ลอยตัว ขนาดใหญ่กว่าบุคคลปกติเท่าครึ่ง ยืนบนแท่นสูง ๓ เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว มีผ้าแถบทับเสื้อแบบตะแบงมาน มือถือดาบปลายมน นายสนั่น ศิลากร ประติมากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบประติมากรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ปั้นต้นแบบในมหาวิทยาลัยศิลปากร (สิรินพัณ พันธุเสวี 6๒๕๖๓ : นามานุ กรม)

เดิมจังหวัดภูเก็ตใช้ชื่อ "เทพกษัตรีย์" เป็นชื่อตำบล และยังมีชื่ออื่น เช่น เทพสตรี จังหวัดภูเก็ตจึงได้ขอหลักฐานการใช้ชื่อของท่านผู้หญิงจันจากกรมศิลปากร นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรม ศิลปากรได้สำเนาความเห็นของพระยาอนุมานราชธน นายกราชบัณฑิตยสภา ให้ใช้ชื่อท่านผู้หญิงจันว่า "เทพกระษัตรี" ตามหลักฐานที่เก่าสุดในขณะนั้น จังหวัดภูเก็ตอัญเชิญประติมากรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ประดิษฐาน ณ สี่แยก บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ กำหนดให้ด้านขวามือเป็นท้าวเทพกระษัตรี ตามหลักทักษิณาวัฏ (อ้วน สุระกุล ๒๕๒๗ : นามานุกรม) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐

ประวัติย่อ ๒ วีรสตรี

ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกเป็นบุตรของจอมร้างบ้านเคียนกับนางหม้าเสี้ย ท่านผู้หญิงจันแต่งงานกับหม่อมศรีภักดีภูธร มีบุตร ๒ คนคือแม่ปรางกับพระยาถลางเทียน (ต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง) ต่อมาเมื่อท่านผู้หญิงจันเป็นหม้าย จึงได้สมรสครั้งที่สองกับพระยาพิมลอัยา (ขัน) มีบุตรธิดาอีก ๕ คน ได้แก่ เจ้าจอมมารดาทอง (บาทบริจาริกา ในรัชกาลที่ ๑) พระยกกระบัตรจุ้ย มหาดเล็กเนียม แม่กิม และแม่เมือง คุณมุกเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพกระษัตรี) ได้ร่วมรบในสงครามศึกถลาง ๒๓๒๘ ไม่ปรากฎหลักฐานการสมรส คำนำหน้านามจึงเป็นคุณมุก (ไม่ใช่คุณหญิงเพราะตำแหน่งคุณหญิง ใช้กับสตรีที่สมรส)

ปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่าได้ยาตราทัพเข้ามาโจมตีประเทศไทยถึง ๙ กองทัพ เรียกว่าสงคราม ๙ ทัพ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกรวบรวมกำลังชาวบ้านทั้งชายและหญิงต่อสู้กับ ข้าศึกใช้สติปัญญาความสามารถและกลอุบายต่อสู้จนได้รับชัยชนะ ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร

นามานุกรม

- สิรินพัณ พันธุเสวี เพศหญิง เกิดประมาณ พ.ศ.๒๔๘๗ ภูมิลำเนากรุงเทพมหานคร อยู่ที่บ้านสามกอง ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูลอรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- อ้วน สุระกุล เพศชาย เกิดเมื่อเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ภูมิลำเนาจังหวัดตรัง ให้ข้อมูล

- สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗

บรรณานุกรม

- สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ บรรณาธิการ (๒๕๖๑) ภูเก็จ : จดหมายเหตุ ภูเก็ต : หภว. หอจดหมายเหตุ

ภูเก็ต โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑, ๒๓๓ หน้า

- สมหมาย ปั่นพุทธศิลป์ บรรณาธิการ (๒๕๔๔) วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร ๓๘๓ หน้า

- อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก https://palanla.com เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

อ- นุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบคั้นจาก https://ww.phuketcity. go.th/ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก https://thailandtourismdirectory.go.th เมื่อ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก http://www.srisunthon.go.th/ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก https://th.wikipedia.ors เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร :

วงเวียนสี่แยกบ้านท่าเรือ หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

แผนที่
หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง